LESSON 3 : ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด

>>>>>

บทเรียนชีวิตและธุรกิจ (ที่ห้องเรียนไม่มีสอน) จาก “พี่ทาโร่”

หลายคนอาจคุ้นชื่อคุณธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ หรือ “พี่ทาโร่” ของน้องๆ ในฐานะคนดังในโลกของเทคโนโลยีและการลงทุน 

ปัจจุบันเขานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี
ในเครือกลุ่มบริษัทเจมาร์ท เป็นคีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลัง “JFinCoin” โทเคนสัญชาติไทยรายแรกที่ออกขายโดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 

อีกด้านหนึ่งเขายังรับบทบาทที่ปรึกษาด้านไอทีและบริหารองค์กรของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายในยุค 3.0 หรือ
ยุค Automationที่ต้องหาวิธีทำธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ไอ แอม คอนซัลติ้ง (I AM Consulting Group) ซึ่งเติบโตจากการเป็นที่ปรึกษาและผู้พัฒนาระบบ SAP ซอฟต์แวร์ผู้นำระบบ ERP ระดับโลก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท TIS INCTEC Group ผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการพัฒนาและติดตั้งระบบสารสนเทศชั้นนำยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น 

ย้อนไปก่อนหน้านั้นในช่วงหนึ่งของชีวิตเขามีโอกาสได้สัมผัสการเป็น Startup ก่อนใครในยุค Y2K ปักหลักทำงานที่สิงคโปร์อยู่เกือบปี 

ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านการซุกซน (คำที่เขาใช้) ในการทำอะไรหลายๆ อย่างมาตลอดเกือบ 30 ปี ครั้งนี้ “พี่ทาโร่” 
ขอแชร์ประสบการณ์เป็น 10 บทเรียนชีวิตและธุรกิจ (ที่ห้องเรียนไม่มีสอน) เพื่อเป็นทางลัดให้กับรุ่นน้องๆ

ลองอ่านให้จบแล้วนำไปคิดต่อ คุณอาจจะค้นพบเรื่องที่ตัวคุณเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน

เกิดมาทั้งที โชคดีหาตัวเองเจอ

“ผมเป็นที่ปรึกษามาทั้งชีวิต มาเจอตัวเองตอนอายุ 26 ตอนนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Industrial Engineering 
ที่อเมริกา ก่อนจบมีบริษัทใหญ่ๆ มาออกบูธรับสมัครงานที่มหาวิทยาลัย ผมก็ไปเดินดูแล้วเกิดสะดุดกับบูธหนึ่ง ซึ่งในบูธ
ไม่มีอะไรเลยนอกจากโลโก้ใหญ่ๆ อันหนึ่ง กับฝรั่งใส่สูทอ้วนๆ คนหนึ่งยืนอยู่พร้อมกับลูกบอล 2 ลูกในมือ เขาถามขึ้นว่าใครอยากทำงาน  Accenture บ้าง (Accenture เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจชั้นนำระดับโลก) จากนั้น
เขาก็ชวนทำกิจกรรมยืนล้อมวงกัน โดยให้โจทย์ว่าทำยังไงก็ได้ให้ลูกบอล 2 ลูกนี้โดนมือทุกคนแล้ววนกลับมาที่คนแรกภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ทุกคนก็สนุกสนานในการหาวิธีแก้โจทย์ มีคนหนึ่งยกมือขึ้นถามว่าการให้ลูกบอลโดนมือนี่ ต้องทั้งสองมือไหม ฝรั่งก็ตอบไป คนที่ 2 ก็ถาม คนที่ 3 ก็ถาม คนถัดไปก็ถามๆๆ เขาก็ตอบไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายทั้งกลุ่ม
ก็ได้คำตอบในการแก้โจทย์นี้ คือ ให้คนหนึ่งวิ่งเอาลูกบอลไปแตะมือทุกคน ส่วนคนที่เหลือยืนแบมือเฉยๆ ไม่ต้องขยับ

“พอจบกิจกรรม เขาพูดขึ้นว่า This is consulting. ผมสตั๊นท์เลยนะ คิดในใจทันที…อาชีพอะไร (วะ) เนี่ย ชอบจัง! เป็น
โมเมนต์ที่ทำให้ตัดสินใจว่า ‘ฉันจะเป็นที่ปรึกษาให้ได้’  

“สิ่งที่ประทับใจมากในวันนั้นคือได้เจอวิธีการที่ทำให้เรา เอ๊ะ! ว่ามันมีการหาคำตอบอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วก็เป็นอะไร
ที่สนุกด้วยนะ ดูไม่ใช่วิชาการ จุดสำคัญคือกระบวนการในการนำไปสู่คำตอบ ซึ่งวันนั้นผมยังไม่รู้หรอกว่ามันเรียก 
Process Oriented จนถึงวันนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่หาตัวเองเจอ บางคนจนตายก็ยังหาไม่เจอเลยนะ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย” 

ถ้าหากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต…
“ผมอยากให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอซึ่งยากมาก ผมรู้ว่ายาก เรื่องนี้เป็นปรัชญามากเลยนะ แล้วต้องทำยังไงถึงจะหาตัวเองเจอ ในมุมมองผมก็ต้องลองทำหลายๆ อย่าง ลองไปเรื่อยๆ สตีฟ จ็อบส์ ก็เคยพูดไว้ ทุกวันตลอด 33 ปี เขาเดินไปหน้ากระจกแล้วมองหน้าตัวเอง พร้อมถามตัวเองว่า ‘ถ้าหากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ฉันจะยังทำสิ่งเหล่านี้อยู่หรือไม่’ 

“ถ้าคำตอบว่า ‘ไม่’  ติดต่อกันหลายๆ วัน แสดงว่ามีบางอย่างไม่ปกติแล้วละ ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว ลองถามตัวคุณเองว่ากำลังทำสิ่งที่ชอบอยู่ไหม ถ้าไม่ ก็เปลี่ยน สักวันหนึ่งต้องเจอจนได้ หรือถ้าไม่เจอจริงๆ ชาติหน้าก็ว่ากันใหม่ 😀” 

ตั้งคำถาม สำคัญกว่าหาคำตอบ  
“อาชีพที่ปรึกษาไม่ได้รู้ทุกเรื่องนะ เราไม่มีทางรู้ดีไปกว่าคนในองค์กรหรอก ความลับของอาชีพนี้คือการถาม ถ้าไม่ถาม
ผมจะรู้ได้ไง สมมุติว่ามีคนชวนผมไปที่บ้าน ระหว่างนั่งรอเขาจะเปิดโทรทัศน์ให้ผมดู แต่หารีโมตไม่เจอ เป็นคุณจะทำยังไง คนส่วนใหญ่จะช่วยกันเดินหาใช่ไหม แต่คุณจะรู้ไหมล่ะว่ารีโมตมันอยู่ไหน แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาอย่างผมจะถามว่าจำได้ไหม ใช้ล่าสุดเมื่อไหร่ วางไว้ตรงไหน ถามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะนึกออก งานของเราคือตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาหาคำตอบ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่พยายามจะไปหาคำตอบให้เขา คุณคิดว่าที่ปรึกษาจะเก่งทุกเรื่องแล้วไปหาคำตอบให้เขาเหรอ ผมเข้าไป Transform เจมาร์ท คุณคิดว่าผมจะรู้ดีกว่าคนเจมาร์ทที่ทำงานมา 30 ปีเหรอ ไม่มีทาง 

ภาพจากเพจ taro.thanawat

“อาชีพที่ปรึกษาเพิ่งมีในโลกเมื่อไม่นานนี้เองนะ แม่ผมยังถามเลยว่าผมทำงานอะไร ตอนผมไปเป็นที่ปรึกษาให้การบินไทย แม่ถามผมว่าไปเรียนซ่อมเครื่องบินตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือตอนผมไปเป็นที่ปรึกษาให้ไนท์ซาฟารี แม่ก็ถามผมว่าไปเรียนเรื่อง สัตว์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลย หลายครั้งเวลาบริษัทมีปัญหาคนในอาจมองไม่เห็นทางออก เขาเลยจ้างที่ปรึกษาคนนอกอย่างเรามาช่วยถามคำถาม มาเป็น Fresh Eye ให้เขา แต่แน่นอนว่าการให้คำปรึกษามันต้องมี Logic เป็น Process Oriented คือมีกระบวนการในการหาคำตอบ แต่ทักษะสำคัญคือการตั้งคำถาม” 

รีบล้ม รีบลุก
“ผมลาออกจากงานประจำที่ Accentureในปี 2000 ซึ่งเป็นยุคดอทคอมบูม ยุคนั้นเชื่อกันว่าใครก็ตามเปิดดอทคอมแล้ว
จะรวย ผมก็คิดทำบ้าง เขียนแผนธุรกิจไปเสนอ Angel Investor ชาวสิงคโปร์ ไอเดียคือหาของ Local ในจตุจักรไปขาย Global ผ่านเว็บ ช่วงหนึ่งของชีวิตได้มีโอกาสไปเป็น Startup ที่สิงคโปร์ เว็บเราขายเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก เพราะคนไทยทำได้สวย แต่ผ่านไป 9 เดือน ยอดขายเป็นศูนย์ นายทุนก็มาเคาะประตู ถ้ายังไม่มียอดขายเข้ามาเขาจะปิดบริษัทแล้วนะ ผมก็ทำไงดีหว่า สุดท้ายตัดสินใจไปออกงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์ที่เยอรมัน กลับมาเริ่มได้ออเดอร์ ดิ้นรนสักพัก แต่รู้สึกไม่ใช่ เลยยกบริษัทให้พาร์ตเนอร์ ส่วนผมไม่ทำต่อ อะไรไม่ใช่ผมไม่ฝืน ผมเป็นคนที่ภาษา Startup เรียกว่า Fail Fast รีบล้ม รีบลุก อาจจะดูเหมือนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ คนรุ่นพ่อแม่อาจไม่ค่อยชอบใจ แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุค VUCA ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ เราต้องรีบเปลี่ยน รีบเรียนรู้ แล้วถือเป็นบทเรียน”

ความคิดผิดๆ ของคนเริ่มทำธุรกิจ  

“หลังเรียนจบกลับเมืองไทย ผมเริ่มทำงานที่ปรึกษาที่ Accenture และ PWC มาก่อนที่จะมาเปิดบริษัท I AM Consulting ของตัวเอง ช่วงแรกที่ตั้งบริษัทผมคิดเหมือนที่ใครๆ ก็คิดว่าเปิดมาแล้วตัวเลขจะเป็นบวก แต่ผมกลับติดลบในช่วง 3 ปีแรกพร้อมกับหนี้ธนาคาร 14 ล้าน ถ้าถามผมว่าทำยังไงถึงพลิกธุรกิจกลับขึ้นมาได้ ขั้นแรกคือทำยังไงก็ได้ให้บริษัทจ่ายน้อยที่สุดเพราะช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงบริษัทไม่มีจะกิน เป็นช่วงที่ธุรกิจไม่โต พอเข้าสู่ช่วง 7 ปีจะเป็นช่วงธุรกิจกำลังเติบโต และ 7 ปี มันถึงจุด S-curve ต้องปรับเปลี่ยนองค์กร ถ้าไม่เปลี่ยนธุรกิจมันจะดิ่งลง

“ดังนั้นช่วงบริษัทไม่มีอันจะกินต้องจ่ายให้น้อยที่สุด ต้องประคองให้บริษัทมีชีวิตยาวที่สุด เพื่อรอจังหวะที่เกินช่วง 3 ปี 
ซึ่งคนจะเริ่มรู้จักบริษัท ตอนแรกๆ ที่เปิดบริษัท ผมจ่ายเยอะมาก เพราะผมเป็นบริษัทเล็ก กลัวว่าจะไม่มีพนักงานมาช่วยทำงาน ผมเลยต้องจ้างแพง ซึ่งเป็นการจ่ายที่เกินความจำเป็น มันเลยผิดท่า ธุรกิจต้องรอเวลาตามวงจร 3 ปี 7 ปี เพราะกว่าจะมีลูกค้ารายแรก หรือลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าเรามันต้องใช้เวลา สร้างแบรนดิ้ง มันไม่มีหรอกที่เปิดบริษัทวันแรกจะมีลูกค้าเดินเข้ามาหา กว่าคนจะรู้จักว่าเราขายอะไร กว่าคนจะปิ๊งแล้วเดินมาหาเราต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยไซเคิลตามปกติ”

ภาพจากเพจ taro.thanawat

ธุรกิจมีชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน
“ทุกอย่างมีชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน การทำธุรกิจก็เหมือนกัน เวลาเจออะไรแย่ๆ ทำอะไรก็ได้เพื่อรอเวลาที่มันจะดี หรือถ้าตอนไหน มันดีก็ให้คิดว่าแล้วถ้าเกิดแย่ขึ้นมาล่ะ เราจะรับมือยังไง ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ธุรกิจมีวงจรของมัน หุ้นเองก็เหมือนกัน ไม่มีหุ้นตัวไหนขึ้นตลอดหรือลงตลอด เป็นเรื่องปกติ” 

“รู้รอบ” หรือ “รู้ลึก” แบบไหนดีกว่ากัน 

“คุณเป็นอะไรก็ได้ แต่ผมว่าคุณควรจะเป็นตัวของคุณเอง มนุษย์เป็ดหรือ Generalist รู้รอบ รู้กว้าง แต่บางคนเป็นSpecialist ชอบลงลึก ซึ่งคนสองประเภทนี้นั่งคุยกันมักจะคุยไม่รู้เรื่องนะ เพราะคนหนึ่งสนใจภาพรวม อีกคนหนึ่งสนใจรายละเอียด ไม่ได้แปลว่าคนประเภทไหนดีกว่ากัน ในองค์กรต้องมีคนทั้งสองประเภทนี้ ส่วนตัวผมเป็นเป็ด เพราะถูกหล่อหลอมมาให้ทำงานหลายอย่าง เป็น Multitasking ผมก็ต้องมีลูกน้องที่รู้ลึกรู้จริง มีความชำนาญเฉพาะด้านเยอะๆ แล้วถ้าผมอยากรู้อะไร ผมจะถาม คนไทยอายที่จะถาม มันดูโง่ แต่มันมีวิธีการถามที่ทำให้เราไม่ดูโง่นะ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องหรอก”

ภาพจากเพจ taro.thanawat

อย่ากลัวว่าไม่มีความรู้เลยไม่กล้าเดิน                        
งานที่ปรึกษาทำให้เราต้องพัฒนาความรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ผมไม่ได้พูดเรื่องหาความรู้เป็นที่ตั้ง เพราะไม่อยากให้กลัวจนเกินไปว่าถ้าไม่มีความรู้แล้วจะไม่กล้าเดิน เพราะนี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องทำอยู่แล้ว ผมขีดเส้นใต้ว่ายังไงก็ต้องหาความรู้ ผมฟัง Podcast ตอนวิ่ง รุ่งเช้าผมก็อ่านหนังสือตามเวลาที่มี ฟัง YouTube บ้าง สนใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ หรือถ้าอยากรู้ในเชิงลึกที่หาอ่านจากหนังสือทั่วไปไม่ได้ หรือต้องไปควานหาอ่านกี่เล่มกว่าจะเจอ ก็จะใช้การพูดคุยถามตอบจากบทสนทนา หรือการเข้าคอร์สสัมมนา ฟังผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง”

โฟกัสที่เหตุ ปล่อยวางที่ผล 

“ในยุค VUCA จะปรับตัวยังไงดี ผมบอกลูกน้องเสมอว่า ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เรามีหน้าที่ในการสร้างเหตุ ไม่ใช่สร้างผล เช่น ถ้าอยากรวย และเรารู้ว่าหนทางรวยต้องขยัน ต้องใฝ่หาความรู้ ต้องพัฒนาตัวเอง ก็ทำตรงนั้นไป นั่นคือเหตุ ส่วนจะรวยหรือไม่นั้น ช่างมัน อะไรที่เราควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยไป หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุไปสู่ผลลัพธ์นั้น ทำอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีวินัย อย่าไปสนใจการเปลี่ยนแปลง

อย่าไปเรียนรู้ทุกเรื่อง
“ความรู้ในโลกนี้มันเยอะแยะไปหมด คุณเรียนไม่หมดหรอก อย่าไปเรียนรู้ทุกเรื่อง แต่เลือกเรียนรู้ให้เหมาะกับความสนใจของคุณ แต่สำคัญกว่านั้น คุณต้องรู้ตัวเองก่อนนะ เพราะถ้าคุณไม่รู้ตัวเองแล้วอยากรู้เรื่องอื่นไปหมด สุดท้ายคุณจะไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจว่าไม่รู้บางเรื่องแล้วเราจะตาย ไม่รู้แล้วจะอายเพื่อน ช่างมันเถอะ สนใจแค่ว่าเราอยากรู้อะไร เช่น คุณอาจจะสนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์กาแฟเพื่อหารสชาติที่คุณถูกใจ ซึ่งมันอาจดูไร้สาระมากสำหรับบางคน แต่เรียนรู้ไปเถอะ สักวันคุณอาจจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟ ผมว่าเราไม่ต้องรู้ทุกเรื่องหรอก ผมก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง คนเราไม่ได้มีหน้าที่เกิดมาเพื่อเหมือนใคร ให้รู้ตัวตนของตัวเอง แล้วไม่ต้องทำเหมือนชาวบ้าน เรียนรู้เรื่องที่คุณชอบก็พอ” 


เก็บตกนอกห้อง (เรียน) จาก “พี่ทาโร่”  
· ไม่รู้ก็ถาม อย่าอาย ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง

· ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ ต้องรีบเปลี่ยน รีบเรียนรู้ แล้วถือเป็นบทเรียน

· คุณจะ “รู้ลึก” หรือ “รู้รอบ” ก็ได้ แต่ต้องเป็นตัวของคุณเอง

· ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องพัฒนาความรู้อยู่ตลอดเวลา แต่อย่ากลัวจนเกินไปว่าถ้าไม่มีความรู้แล้วจะไม่กล้าเดิน

· คนมักจะคิดว่าใช้เทคโนโลยีจะทำให้บริษัทสามารถทรานส์ฟอร์มได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญคือการปรับ Mindset ปรับวัฒนธรรมองค์กร และเปลี่ยนวิธีการทำงาน 


»»»»»»»»»

ความรู้ในโลกนี้มันเยอะแยะไปหมด คุณเรียนไม่หมดหรอก 

อย่าไปเรียนรู้ทุกเรื่อง แต่เลือกเรียนรู้ให้เหมาะกับความสนใจของคุณ

»»»»»»»»»


 เปิดใจนักเรียน (รู้)  BullMoon Exclusive รุ่น 1

“ผมรู้เรื่องคริปโตฯ แต่ไม่ได้เก่งหุ้นหรืออสังหาฯ ก็อยากหาเวลาไปเรียน ไปทำความเข้าใจในเรื่องที่เราไม่รู้ การเข้ามาเรียนคอร์ส BullMoon Exclusive ก็จะพยายามฟังและดูว่าผมจะเก็บอะไรไปใช้ได้บ้าง ไม่งั้นผมต้องไปอ่านหนังสือหลายเล่ม  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องอ่านเล่มไหน หรือถ้ารู้ก็จะใช้เวลานาน พี่ป้อม (ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา CEO ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป) เก่งอยู่แล้ว มีเครือข่ายคนเก่งๆ มากมาย ก็นำเนื้อหาและกิจกรรมมาร้อยเรียงกันเป็นหลักสูตร BullMoon Exclusive เชิญวิทยากรมาสอน และอีกส่วนหนึ่งพี่ป้อมก็อยากให้ผมมาแชร์เรื่องที่ผมรู้กับคนอื่นๆ ด้วย”

เรื่อง รติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร 

ภาพ พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร 

เรียนรู้การลงทุนและมีเพื่อนดีๆ จากคอมมูนิตี้ที่รักการเรียนรู้

ดูรายละเอียดได้ที่ https://bullmoonexclusive.com