หลังจากได้ฟังเรื่องราวชีวิตของ คุณตี๋-ภูมรินทร์ รุ่งรัศมีพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ควอลิตี้ เวิร์ค จำกัด เราถึงกับอุทานออกมาว่า
“นี่มันหนัง 4 Kings ชัดๆ”
ช่วงวัยรุ่นเขาคือเด็กช่างกลที่มีเรื่องต่อยตีแทบทุกวัน ต้องเปิดเพลง “บางระจันวันเพ็ญ” ของคาราบาวฟังปลุกใจก่อนออกจากบ้านทุกเช้า ถูกคู่อริไล่ยิงจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ผ่านวีรกรรมโลดโผนโดนรุมยำ 11 ต่อ 1 รอดมาได้ก็นับว่าบุญแล้ว
ในหนังจบลงด้วยการจากไปของตัวละครหลัก แต่ในชีวิตจริงคุณตี๋ตัดสินใจหันหลังให้วงการเด็กช่างอย่างเด็ดขาด ก่อนเริ่มต้นบนเส้นทางใหม่ เขาปั้นตัวเองใหม่จาก “ตี๋ ขส.ทบ.” ที่ใส่เสื้อช็อปพกมีดเล่มยาวไปเรียน กลายเป็น
“ดร.ตี๋” ที่สวมสูทผูกไทในมาดนักธุรกิจเต็มตัว
เพราะทุกช่วงชีวิตคือการเรียนรู้ และทุกการเรียนรู้เป็นไปเพื่อการเติบโต แล้วเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากชีวิต
ที่ผ่านมา
ไม่มีเป้าหมาย ชีวิตก็ไม่มีคุณค่า
ถ้าขาดเป้าหมาย คุณตี๋ยอมรับว่าป่านนี้ชีวิตเขาคงลงเหวไปแล้ว เผลอๆ อาจต้องลงเอยด้วยอาชีพขับมอเตอร์ไซค์วินด้วยซ้ำ ก่อนจะเริ่มต้นเล่าว่าเขาเป็นลูกคนกลาง เรียนไม่เก่ง ผิดกับพี่คนโตและน้องคนเล็กที่เรียนดีทั้งคู่ พี่น้องจึงมีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ส่วนเขาต้องช่วยพ่อแม่ค้าขายก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน ตอนวัยรุ่นต้องหักเหไปเป็นเด็กช่างกล วันๆ ขยันสร้างเรื่องตีรันฟันแทง ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าชีวิตจะไปทางไหนดี โชคดีที่คิดได้เลยเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งที่คนอื่นมองว่าโอกาสแทบเป็นศูนย์ ตอนเรียนก็เกือบโดนรีไทร์ แต่สุดท้ายจบมาได้ด้วยเกรดที่ไม่อายใคร
ทั้งหมดนี้เพราะคำคำเดียว…“เป้าหมาย”
“ทุกช่วงชีวิตผมมีเป้าหมายในใจตลอด รู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่ไม่มีเป้าหมายเราจะใช้ชีวิตแบบไม่มีคุณค่า ตอนเรียนช่างกล เป้าหมายผมคือต้องพิชิตใจเพื่อนให้ได้ เราเรียนสายสามัญมา บุคลิกก็เงียบๆ ติ๋มๆ แรกๆ โดนเพื่อนแกล้งตลอด คิดหาวิธีทำยังไงให้ได้รับการยอมรับเข้าก๊วน เพื่อนชวนทำอะไรทำหมด สูบบุหรี่ กินเหล้า แทงสนุ้ก เจอคู่อริโดดเข้าใส่ ต้องสร้างผลงาน
“พอเรียนจบ ปวส. ผมก็ตั้งเป้าต่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่อยากใช้ชีวิตเสี่ยงๆ ที่สักวันอาจจบลงกลางถนนหรือติดคุก หลังทำงานถึงจุดหนึ่งก็อยากเป็นดอกเตอร์ เพราะรู้สึกว่าคำนำหน้านี้มันดูน่าเชื่อถือ ลูกค้าเกรงใจ และเป็นการสร้างทางเลือกให้ตัวเองด้วย ทุกวันนี้ตั้งเป้าอยากพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้บริษัทยั่งยืนและพนักงานทำงานอย่างภาคภูมิใจ”
ทำอะไรไปเพื่ออะไร ฟังดูอาจเป็นเรื่องง่ายๆ แต่คุณตี๋ตอกย้ำให้เราได้รู้ว่าคำถามนี้ทรงพลังมากกว่าที่คิด
เอาตัวรอด…ทักษะที่ทุกคนควรมี
เมื่อชีวิตต้องพลิกผัน จากเด็กโรงเรียนเอกชนไปเป็นเด็กอาชีวะ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คุณตี๋ใช้คำว่า “เหมือนอีกโลกหนึ่ง” แม้จะแทบไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะขลุกอยู่แต่กับเพื่อนเกเรหัวโจก แต่เขาคิดว่าทักษะหนึ่งที่ได้มาจากการเป็นเด็กช่างคือ ทักษะการเอาตัวรอด ซึ่งสำคัญมากในการใช้ชีวิต
“ไปเรียนวันแรกก็โดนคู่อริรับน้องเลย ถูกล็อกคอแล้วรัวหมัด เราก็งงไปเลย ผมรู้มาก่อนว่าช่างกลมีตีกัน แต่ไม่รู้ว่าของจริงมันเป็นยังไง อยู่โรงเรียนก็โดนเพื่อนแกล้ง ชีวิตเราทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ไม่อยากไปเรียนเลย กลับบ้าน ร้องไห้ทุกวัน แต่บอกพ่อแม่ก็คงไม่ช่วยอะไร เลยคิดว่าเราต้องลุกขึ้นสู้
“ลุคผมดูเป็นเด็กเรียน ครูจะไม่ค้นบุหรี่ ก็อาศัยช่องว่างนี้แอบเอาบุหรี่ไปโรงเรียน เจอเพื่อนก็ควักออกมาดูดโชว์ ปกติเราไม่สูบนะ แต่เหมือนพรีเซนต์การขาย เพื่อนก็เริ่มสนใจในตัวเรา อยากมาคุยด้วย แล้วก็ชวนเข้าแก๊ง ในใจเราคิดว่า ต้องเอาตัวให้รอด ไม่งั้นจะถูกแกล้ง เพราะเราดูด้อยกว่าเขา ทำยังไงถึงจะเป็นพวกเขาได้ เขาให้ลองอะไรผมก็ลองทุกอย่าง เกเรไปกับเขา เจอคู่อริก็วิ่งเข้าใส่ ต้องสร้างผลงาน เปรียบเทียบเป็นเซลส์ เราต้องขายของให้ได้ ทำให้เจ้านายเห็น สุดท้ายเรากลายเป็นท็อปเซลส์ เพราะไปสร้างวีรกรรมใหญ่ ผมคนเดียวแต่ฝ่ายตรงข้ามเดินดาหน้ามากัน 10 คน ผลคือผมกลับบ้านเลือดอาบ แต่เพื่อนชอบใจ บอกว่าเราเจ๋ง ตอนนั้นคิดแค่ว่าวันพรุ่งนี้จะเอาตัวรอดยังไง ไม่เคยคิดไกลไปกว่านั้น
“5 ปีของชีวิตเด็กช่าง โดนไล่ยิงบ้าง ไปยิงเขาบ้าง เพื่อนตายบ้าง สิ่งที่ติดตัวมาคืออะไรน่ะเหรอ ตอนนี้ยังมีมีด เหลืออยู่เลย (หัวเราะ) ผมว่ามันคือสกิลเอาตัวรอดในสังคมนะ จากเด็กเงียบๆ ผมเปลี่ยนไปเลย กลายเป็นคนลุกขึ้นสู้ รู้สึกว่าชีวิตคือการเอาตัวรอด เป็นทักษะที่คนยุคไหนก็ต้องมี ถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต”
คนอื่นกลัว เราต้องกล้า
ตอนสอบเอนทรานซ์ การเลือกคณะและมหาวิทยาลัยของคุณตี๋ก็เป็นอะไรที่เราแอบทึ่ง จากเรื่องราวชีวิตโลดโผน คงไม่มีเชื่อว่าเขาจะสอบติด แต่ไม่ว่ายังไงเขาก็ได้เข้าไปเป็นน้องใหม่สาขาวิศวะเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นคณะและสถาบันที่เขาเลือกอย่างมีแท็กติก
“ผมต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเอง ตัดสินใจเด็ดขาดว่าเราต้องได้ใบปริญญา เพราะประเทศเราตัดสินกันด้วยกระดาษแผ่นเดียว แล้วต้องทำยังไงล่ะ ที่ผ่านมาแทบไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ไปหาซื้อตำราเรียนมือสองมานั่งอ่านใหม่หมด คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วก็ให้รุ่นพี่ช่วยติวให้ ถามเพื่อนว่าสถาบันไหนคือจุดสูงสุดของเด็กช่างอย่างเรา เพื่อนก็บอกว่าพระจอมเกล้าฯ ผมเลยเลือกสอบเข้าลาดกระบัง
“ส่วนทำไมเลือกวิศวะเคมี เพราะวิเคราะห์ดูแล้วเป็นสาขาที่มีโอกาสสอบเข้าได้มากที่สุด เปรียบเทียบกับสาขาอื่นอย่างวิศวะเครื่องกล อัตราการแข่งขัน 1 ต่อ 100 ส่วนวิศวะเคมี 1 ต่อ 20 อัตราการแข่งขันน้อยกว่า ซึ่งแปลว่ามีโอกาสสอบติดมากกว่า ลองถามเพื่อนก็ไม่มีใครอยากเรียนวิศวะเคมีสักคน เพราะยาก ผมก็มองว่าเราต้องกล้าในจังหวะที่คนอื่นกลัว เพราะถ้าเราไปกล้าในสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากได้เหมือนกัน โอกาสเราจะน้อย
“ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียว สอบติดอะไรก็ได้ ขอแค่ลาดกระบังและเป็นวิศวะ ไม่สนใจเรื่องชอบ ไม่ชอบ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสอบได้หรือไม่ได้ แต่ต้องสู้”
คุณตี๋ผ่านมาด้วยความเชื่อล้วนๆ เชื่อว่าตัวเองจะสู้ได้ ขณะที่คนอื่นไม่มีใครเชื่อเลย
ไม่มีอะไรทำไม่ได้
ผ่านด่านแรกมาได้คุณตี๋ยังต้องเจอบททดสอบอีกด่านซึ่งหินไม่แพ้กัน เมื่อเขาติดโปรหลายครั้งและกำลังจะถูกรีไทร์! ตอนนั้นเขาปฏิญาณกับตัวเองว่าจะหันหลังกลับไม่ได้ ชีวิตต้องมีแต่เดินหน้าเท่านั้น
“ตอนเรียนลาดกระบังมันสอนให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรทำไม่ได้ ช่วงแรกผมเรียนติดโปร เหลือครั้งสุดท้ายจะโดนรีไทร์ละ ผมบอกกับตัวเองว่าเราจะโดนไทร์ไม่ได้ ไม่งั้นชีวิตจบที่วินมอเตอร์ไซค์แน่นอน ก็บังคับตัวเองลุยอ่านหนังสือ ไม่ได้นอนติดกันเป็นวันๆ หันมาตั้งใจเรียน จดเล็กเชอร์ละเอียดมากจนเพื่อนต้องมาขอยืม กลายเป็นเกรดดีขึ้นเรื่อยๆ เอาตัวรอดได้ ไม่โดนไทร์ สุดท้ายกลายเป็นเริ่มติวให้เพื่อน
“ผมคิดว่าถ้าคนเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันทำได้ทุกอย่างนะ ผมไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจอีกแล้ว พี่น้องมีอนาคตที่ดี มีผมคนเดียวที่พ่อแม่คุยอวดใครไม่ได้ เป็นอะไรที่ติดค้างอยู่ในใจ เรากลับไปเป็นอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ทางเดียวคือต้องเปลี่ยน”
เกรด 2 กลางๆ คือรางวัลแห่งความมุ่งมั่น บัณฑิตวิศวะเคมี ลาดกระบัง กำลังจะเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ซึ่ง
เป็นโลกใบใหม่ที่เขายังไม่เคยเจอ เพียงแค่เรียนจบสมัครงานก็ต้องหว่านใบสมัครไป 20-30 แห่ง ว่างงานอยู่หลายเดือน กว่าจะได้งานทำ
ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ
คุณตี๋เริ่มงานแรกด้วยการเป็นพนักงานขายเครื่องมืออุตสาหกรรมเปลี่ยนงานไป 3 บริษัทจนได้มาเป็นพนักงานบริษัทขายถ่านหิน มีลูกค้าเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบริษัทถูก
เทกโอเวอร์
“เมื่อต้องลาออก ผมก็แนะนำลูกค้าให้ไปซื้อสินค้ากับคู่แข่ง เฮียไปซื้อกับคนนั้นคนนี้นะ แต่เฮียหลายคนกลับมาบอกว่าเซลส์คนอื่นดูแลไม่ดีเท่าเรา ผมเป็นประเภทเต็มที่กับลูกค้า ใครมีปัญหาโทร. มาดึกดื่นแค่ไหนก็จะรับสาย คอยแก้ ปัญหาให้เขา มาเข้าใจทีหลังว่าจริงๆ ธุรกิจเราคืองานบริการ ถ้ามองว่าเขาซื้อแค่ถ่านหิน เขาจะซื้อกับใครก็ได้ แต่ถ้าอยาก ได้ถ่านหินคุณภาพดี ประหยัดต้นทุน สต็อกไม่ขาด มีคนคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ต้องเป็นเรา เป็นจุดที่ตัดสินใจเปิดบริษัทเอง ขายถ่านหินเหมือนเดิม เพราะเรามีฐานลูกค้าอยู่แล้ว”
จากพนักงานบริษัทตัวเล็กๆ เมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเจ้าของ เจอสารพัดปัญหา เถ้าแก่ใหม่ใช้วิธีตั้งคำถามและหาความรู้ให้กับตัวเอง
“ธุรกิจแต่ละช่วงมันมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เราเชี่ยวชาญในธุรกิจก็จริง แต่ก็เข้าใจแค่เรื่องการขาย แต่ธุรกิจ
มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการผลิต ตลาด คน เงิน แล้วแต่ละช่วงการเติบโตก็เจอปัญหาต่างกัน 1 ล้านมา 10 ล้าน ปัญหา ก็แบบหนึ่ง จาก 10 ล้านเป็น 60 ล้าน ก็อีกแบบหนึ่ง ผมติดเรื่องเงินทุนช่วง 40 ล้านไป 60 ล้านอยู่พักใหญ่ มันโตไปกว่านั้น ไม่ได้ ก็ต้องไปเรียนรู้เรื่องเงินทุนว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง ผมจะกัดไม่ปล่อย จะตั้งคำถามกับตัวเองตลอด ช่วงนั้นเราต้องรู้ อะไรบ้างแล้วก็ค้นหาคำตอบ เพราะไม่มีใครมานั่งบอกเรา หาหนังสืออ่าน เสิร์ชจากเน็ต เข้าสัมมนา บางครั้งแค่ประโยคโดนๆ เพียงประโยคเดียวก็เปลี่ยนชีวิตเราได้”
ทุกวันคือการเรียนรู้
จากเด็กช่างกลที่ชีวิตสุ่มเสี่ยงจะเสียผู้เสียคน เปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายมาเป็นนักธุรกิจระดับหลายร้อยล้านอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปคุณตี๋มองว่าสิ่งที่พาเขามาถึงจุดนี้ได้คือ การไม่หยุดเรียนรู้
“การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่วยปรับทัศนคติเราได้ ผมเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เริ่มจากการอ่านหนังสือ จากเล่มหนึ่งมันพาเราไปอ่านอีกเล่มหนึ่งไปเรื่อยๆ เหมือนท่องเที่ยวไปไม่มีที่สิ้นสุด ผมว่าการอ่านมีข้อดีอย่างหนึ่งคือมันเป็นตัวหนังสือ เราสามารถ ใส่จินตนาการ ใส่เสียง ใส่ความคิดของเราลงไปในนั้นได้ ตรงไหนสำคัญก็ตอกย้ำใส่สมอง พอได้อ่านมากขึ้นๆ ก็ได้ปรับทัศนคติ ปรับความคิดเราให้เป็นไปตามนั้น
“ตอนเรียนช่างกล ผมอ่านหนังสือ ‘วิธีชนะมิตรและจูงใจคน’ (How to Win Friends and Influence People)
ของ เดล คาร์เนกี เพราะอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อน มีหนังสือไม่กี่เล่มที่ผมอ่านซ้ำๆ อย่างเล่ม ‘กินกบตัวนั้นซะ’ของไบรอัน เทรซี่ อ่านเพื่อไปสอนหนังสือเด็ก ส่วน ‘Who Move My Cheese?’ เล่มนี้จะบอกให้พนักงานทุกคนอ่าน
“หลังๆ ผมเริ่มเข้าคอร์สสัมมนามากขึ้น ได้เจอเจ้าของธุรกิจใหญ่โตหลักพันล้าน หมื่นล้าน ตอนแรกๆ ก็ไม่เข้าใจนะ พี่ๆ เขามาเรียนกันทำไม เขาน่าจะเป็นวิทยากรมากกว่า พอผมเข้าไปถามหลายคนบอกว่าอยากฟังคนอื่นพูดบ้าง เพราะคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็น Lifelong Learning ถ้ามัวแต่ยึดติดกับความรู้เดิมที่เคยเรียนรู้มา เราอาจไม่สามารถสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ จะสังเกตว่าคนที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งทำตัวเล็ก เขาจะทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมจะ ฟังมากกว่าพูด”
คอร์สล่าสุดที่คุณตี๋ลงเรียน คือ BullMoon Exclusive ที่ทำให้เจอสังคมนักลงทุน ช่วยเติมเต็มความคิดและมุมมองการใช้ชีวิต เปรียบเสมือนการเปิดโลกการลงทุนให้กับเขา
“ที่ผ่านมาเราเคยชกแต่ในสนามของเรา โลกก็จะแคบ ถ้าเรายังเก็บตัวอยู่จะยิ่งทำให้ไม่ได้พัฒนาตัวเอง แต่พอเจอสังคมใหม่ อย่างมาเรียนคอร์ส BullMoon Exclusive ผมได้เจอเพื่อนพี่น้องที่มีเอเนอร์จีเดียวกัน การได้มาพบปะพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์การทำธุรกิจเหมือนๆ กัน ทัศนคติคล้ายๆ กัน ทำให้คุยกันรู้เรื่อง รู้สึกคลิกกัน ช่วยเติมเต็มเราทั้งในแง่ความคิด มุมมองการใช้ชีวิต ได้ถ่ายเทพลังงานดีๆ ให้กัน”
โลกนี้มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากมาย และเมื่อชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป การเรียนรู้ก็ไม่สิ้นสุด
เก็บตกนอกห้อง (เรียน) จาก “ดร.ตี๋”
· จะมัดใจลูกค้าได้ เราต้องอินกับเขา รักเขาให้เหมือนรักแฟนเรา รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
· เมื่อองค์กรโตขึ้นต้องไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่ต้องสร้างทีมให้เก่ง เพื่อให้ทีมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
· คนที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งทำตัวเล็ก เขาจะทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมจะฟังมากกว่าพูด
· การเรียนรู้จากคนอื่นก็เหมือนการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
· สำเร็จไม่พอ บาลานซ์ชีวิตก็สำคัญ ทำยังไงให้สุขและสำเร็จเดินไปพร้อมๆ กัน
»»»»»»»»»»»»
“ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าช่วงไหนเราต้องรู้อะไรบ้าง
จากนั้นก็ไปหาคำตอบ หาหนังสืออ่าน เสิร์ชจากเน็ต เข้าสัมมนา
บางครั้งแค่ประโยคโดนๆ เพียงประโยคเดียวก็เปลี่ยนชีวิตเราได้”ภูมรินทร์ รุ่งรัศมีพัฒน์
»»»»»»»»»»»»
เปิดใจนักเรียน (รู้) BullMoon Exclusive รุ่น 1
“รุ่นพี่คนสนิทแนะนำให้ผมรู้จักกับคอร์สนี้ บอกว่าถ้าไม่เริ่มตอนนี้แล้วจะเริ่มตอนไหน เมื่อก่อนผมอยากลงทุน แต่ไม่มี ทรัพยากร ตอนนี้เรามีทรัพยากรพร้อม แต่กลับไม่มีเวลา สุดท้ายก็ตัดสินใจลงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นคอร์สที่น่าสนใจ
แล้วก็เป็นรุ่นแรกด้วย สิ่งที่เปิดโลกมากคือการได้ใกล้ชิดกับคนในสังคมการลงทุนจริงๆ เรื่องการลงทุนผมถือว่าเป็นน้องใหม่มาก กว่าจะมีความรู้เท่าคนอื่นในคลาสอาจต้องใช้เวลา 10 ปี 20 ปี การที่เรามีโอกาสได้เจอ ได้ฟัง ได้พูดคุยกับคนอื่นๆ เหมือนเป็นการย่นระยะเวลาความสำเร็จ ยิ่งได้มาเจอตัวจริง เสียงจริง มันไม่เหมือนการฟัง Podcast ดู YouTube เราได้สัมผัสเขา ได้เป็นพี่เป็นน้อง ได้เป็นเพื่อนกัน ผมว่าอันนี้สำคัญนะ เพราะสุดท้ายแล้วในการลงทุนคุณไม่ได้ต่อสู้กับใครเลย แต่ต่อสู้กับตัวเอง ถ้าคุณไม่มีสังคม ไม่มีคนคอยพูดคุยปรึกษากัน คิดดูสิว่าจะโดดเดี่ยวแค่ไหน”
เรื่อง : รติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร
ภาพ : พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร
เรียนรู้การลงทุนและมีเพื่อนดีๆ จากคอมมูนิตี้ที่รักการเรียนรู้
ดูรายละเอียดได้ที่ https://bullmoonexclusive.com