LESSON 6 : ทยานันท์ ปัญญายงค์

ผู้บริหาร บริษัท 5 แพน จำกัด บริหารธุรกิจในเครือ OR และ CPALL

»»»»»»»»»

ทายาทรุ่นสามที่รับไม้ต่อในวันที่ไร้ชั่วโมงบิน 

              ขณะที่เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกำลังสนุกกับชีวิตวัยรุ่น คุณเกรซ – ทยานันท์ ปัญญายงค์ เริ่มต้นลงทุนจากความสนใจใฝ่รู้ส่วนตัว จนวันหนึ่งเธอถูกเรียกตัวกลับบ้านเพื่อไปดูแลกิจการของครอบครัว จากนักลงทุนมือสมัครเล่นกลายเป็นผู้บริหารเต็มตัวตั้งแต่อายุ 25 เจอโจทย์ท้าทายที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย แต่เพราะเป็นคนไม่กลัวกับความไม่รู้ เธอเดินหน้าท้าชนกับสารพัดปัญหาและลงมือค้นหาทางออก ทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เพื่อปลดล็อกศักยภาพตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด   (บางท่านอาจคุ้นกับนามสกุลของเธอ โดยเธอเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ คุณแบงค์ พชร ปัญญายงค์ อดีต MJ ช่อง Money Channel ปัจจุบันคุณแบงค์เป็นพิธีกรรายการด้านหุ้นและการลงทุน)

วัยรุ่นก็ลงทุนได้
            ใครๆ ก็ลงทุนได้ จะว่าไปเรื่องอายุไม่เกี่ยวเลย ยิ่งถ้าเริ่มเร็วและมีวินัยในการลงทุนมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้การเงินของเรามั่นคงได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
              คุณเกรซเริ่มอยากรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุ 19 ขณะเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดจากความสงสัยใคร่รู้ตอนติดตามข่าวเศรษฐกิจว่าหุ้น กองทุนรวมคืออะไร ด้วยความเป็นคนที่ชอบเรียนรู้จึงลองเสิร์ชหาข้อมูลจนไปเจอคอร์สโครงการนักลงทุนรุ่นใหม่ หรือ New Investors Program (NIP) รุ่นที่13 ซึ่งจัดโดยสถาบันนักลงทุนรุ่นใหม่ จัดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้รับความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ เธอจึงกลายเป็นคนแรกในครอบครัวที่ลงทุนในรูปแบบอื่น นอกเหนือจากการฝากธนาคาร

            “ปกติทางบ้านเกรซจะเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร เพราะกังวลเรื่องความเสี่ยง แต่เกรซอยากรู้เรื่องหุ้นการลงทุน แล้วเรื่องพวกนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน-มหาวิทยาลัย เลยคิดว่าจะต้องไปหาความรู้เอาเอง แรกๆ แม่ไม่เห็นด้วยก็ทักท้วงว่าเราไปเรียนอะไร มันเสี่ยงนะ เราก็ไม่สนใจ (หัวเราะ) เราคิดว่าต้องไปเรียนสิจะได้รู้ว่ามันคืออะไร จะได้มีความรู้กว้างกว่านี้”

              หลังเรียนจบคอร์สเธอนำเงินเก็บ 2 หมื่นบาทไปลองลงทุนในกองทุนรวมก่อน หลังจากนั้นอีกปีจึงลงทุนในหุ้น เป้าหมายในการลงทุนของคุณเกรซอาจจะต่างจากคนอื่น ปลายทางของเธอไม่ใช่คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ซึ่งยุคนั้นฮิตกันมาก แต่เป็นการสร้างประสบการณ์การลงทุนให้ตนเอง บทเรียนสำคัญคือได้ค้นพบว่าการเรียนทฤษฎีก็แบบหนึ่ง แต่พอลงมือทำจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นว่าเธอรู้จักการลงทุนเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน และยังได้รู้จักตัวเองผ่านการลงทุนอีกด้วย
            “ตอนลงเรียนเกรซคิดแค่ว่าเราอยากหาความรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจให้ได้มากที่สุด พอลองลงทุนจริงก็ได้เรียนรู้ว่าการลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต่อให้ฟังคอร์สบรรยายมามากมายก็ไม่เท่ากับได้ลองทำเอง เช่น ตอนที่เราตั้งราคา Bid Offer บางทีรอทั้งวันก็ซื้อหรือขายไม่ได้ตามนั้น รู้สึกได้เลยว่าชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เกรซมาค้นพบว่าตัวเองชอบลงทุนแบบ VI มากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่าก็สามารถลงทุนได้ ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอทั้งวัน” 

ชีวิตผิดแผน
              ตอนอายุ 25 จากที่วาดฝันไว้ว่าหลังเรียนจบปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเดิม จะสมัครเข้าทำงานบริษัทข้ามชาติ ควบคู่กับการเป็นนักลงทุนอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ทุกอย่างต้องผิดแผนเมื่อทางบ้านเรียกตัวให้กลับไปดูแลกิจการของครอบครัวที่จ.อุตรดิตถ์ ชีวิตของคุณเกรซต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบที่เจ้าตัวไม่คาดคิดมาก่อน

            “บ้านเราทำธุรกิจปั๊มน้ำมันปตท. (ปัจจุบันคือ OR) ที่จ.อุตรดิตถ์ กับโตโยต้าอุตรดิตถ์ พ่อกับแม่อยากจะวางมือจากการทำปตท. พี่ชายเกรซเข้าไปบริหารงานที่โตโยต้า ส่วนเกรซช่วงแรกพ่อเรียกให้ไปเริ่มทำร้านอเมซอนในปั๊มก่อน เริ่มแบบนับหนึ่งเลย จากนั้นก็ให้บริหารปั๊มน้ำมันอีก 2 แห่ง  ชีวิตเกรซเปลี่ยนไปเลย ต้องทำเองทุกอย่างตั้งแต่คุมงานช่าง ดูงานก่อสร้าง ตรวจงาน รับสมัครพนักงาน สัมภาษณ์งาน เทรนพนักงาน ดูเรื่องค่าใช้จ่าย บัญชี ภาษี ยอดขาย การบริการ ความรับผิดชอบเราเยอะมาก ปั๊มปตท. ไม่ได้ขายแค่น้ำมัน แต่ยังมีเรื่องค้าปลีก มีร้านอเมซอน ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ร้านอาหาร ร้านขนม ร้านของฝาก รายละเอียดเยอะแยะไปหมด สมองเราต้องสวิตช์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา เพราะแต่ละส่วนบริหารกันคนละแบบ”
              เจอศึกนอกเรื่องงานยาก งานยุ่ง จุกจิกว่าเยอะแล้ว แต่เรื่องในบ้านนี่ก็ไม่แพ้กัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกทับซ้อนกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกน้องเมื่อพ่อแม่ยังช่วยดูงานอยู่ด้วย และมีความเป็นเจ้าของเหมือนกัน เป็นปัญหาที่หลายคนเจอเมื่อต้องทำธุรกิจครอบครัว

            “ช่วงมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อยู่ 8-9 ปี มีอิสระในการใช้ชีวิต เกรซเอนจอยมาก แต่พอกลับไปทำงานที่บ้าน ปีแรกเราเครียดทุกวัน เราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มานาน ด้วยความเป็นลูกสาวคนเดียวและคนสุดท้องด้วยก็แจ็กพ็อตเลย ถูกตามติดเกือบตลอด งานหนักเราไม่กลัว พักผ่อนแล้วก็หาย แต่เช้าเที่ยงเย็นต้องกินข้าวกับทางบ้านทุกมื้อ คุยกันบนโต๊ะอาหารก็จะมีแต่เรื่องงาน  ทำดีก็ไม่ได้มีคำชม มีแต่เรื่องถูกตำหนิที่เรายังทำพลาด เราไม่เคยเจอมาก่อน ยังปรับตัวไม่ได้ แม่ก็บอกให้อดทนเพราะมันเป็นธุรกิจเรา เป็นอย่างนี้อยู่หลายปี แทบไม่ได้ใช้ชีวิตของเราเลย ตอนนั้นใจคิดอย่างเดียวไม่อยากอยู่บ้านแล้ว อยากไปหางานทำที่กรุงเทพฯ”

บททดสอบครั้งใหญ่ 
            หลายคนมองว่าคนที่ครอบครัวปูทางสร้างธุรกิจไว้ให้สืบทอดต่อในอนาคตต้องนับว่าเป็น “คนโชคดี” แต่หลายครั้งทายาทมักรู้สึกกดดัน เพราะแบกรับภาระและความคาดหวังที่สูงของทางบ้าน สิ่งที่เรียนมากับธุรกิจของที่บ้านก็อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คุณเกรซเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัวว่าต้องรับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อแม่ ทุกอย่างจึงไม่ได้ราบรื่นลงตัว
              ผ่านไปหลายปีคุณเกรซเริ่มปรับตัวได้ เมื่อเดิมพันครั้งนี้คือธุรกิจของทางบ้าน เธอเริ่มเซ็ตความรู้สึกใหม่ งานค่อยๆ เข้าที่จนเริ่มมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศมากมายทั้งจาก ปตท. และคาเฟ่อเมซอน พร้อม้ขยายสาขาจนมีร้านคาเฟ่อเมซอน 4 สาขา และร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอีก 3 สาขา 
              เมื่อผลงานเริ่มเข้าตา ทางบ้านของเธอก็เริ่มผ่อนคลายลง ลดการใช้เวลาด้วยกันลงได้บ้าง ทำอะไรก็ง่ายขึ้น
              การบริหารงานไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่สำคัญคุณเกรซมองว่าคือการบริหารคน ซึ่งกว่าจะเข้าใจศาสตร์นี้อย่างลึกซึ้ง ประสบการณ์หนึ่งครั้งได้สอนให้เธอเข้าใจทุกอย่าง ครั้งหนึ่งลูกน้องก็เกือบจะยกทีมลาออกกันทั้งร้าน เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่วันนั้น 

            “เกรซจะชอบนั่งดูกล้องวงจรปิดของทางร้านเป็นประจำ เพื่อเช็กว่าพนักงานชงเครื่องดื่มถูกมั้ย พูดสวัสดีทักทายลูกค้าหรือเปล่า ฯลฯ ร้านอเมซอนมีรายละเอียดการบริการที่เข้มข้น เพราะลูกค้ามานั่งกับเรานาน บริการยิ่งต้องดี ปกติพนักงานร้านอเมซอนต้องใส่เน็ตคลุมผมและติดกิ๊บ ห้ามมีปอยผมตกลงมา กันผมร่วงใส่เครื่องดื่ม วันหนึ่งมีน้องพนักงานคนหนึ่งเราเห็นในกล้องว่าปอยผมเขาตกลงมา เกรซเห็นปุ๊บก็องค์ลงเลย โทร. เข้าร้านทันทีและดุใส่พนักงาน 
              “สักพักแม่เดินมาบอก เด็กมันร้องห่มร้องไห้จะลาออก เธอไปทำอะไร พร้อมกับเล่าต่อว่าเด็กคนนี้ไปช่วยเพื่อนชงเครื่องดื่มเพราะออเดอร์เยอะ ทำไม่ทัน จริงๆ เขามีน้ำใจเสียสละนะ ทั้งที่รู้ว่าตัวเองยังแต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่คิดว่าจะ เป็นเรื่องร้ายแรงที่โดนว่าเยอะขนาดนั้น เขาจะขอลาออก คนอื่นรู้เข้าก็เลยจะพากันลาออกยกร้าน เพราะทนความเข้มงวดที่มากเกินไปไม่ไหวเหมือนกัน”
              วันนั้นเองเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเกรซต้องคิดทบทวนและยอมรับว่าตัวเอง “เยอะ” จริง ถ้าจะพาทีมไปถึงจุดหมายพร้อมกันได้ มีทางเดียวคือเธอต้องผ่อนคันเร่ง
            “เราจะทำตัวเยอะกับลูกน้องที่มีช่องว่างห่างจากเรามากไม่ได้ เพราะระดับการเรียนที่เรียนมาไม่ใกล้เคียงกับเรา และความอดทนต่างกัน เพราะไม่งั้นจะไม่มีใครอยู่กับเราแน่นอน  ตอนแรกเราเหมือนเป็นลูกโป่งพองตัวจนตึงกับความรู้ที่เรามีอย่างมาก ที่อยากเอามาใช้ให้เต็มที่ ก็เริ่มค่อยๆ ผ่อนลงบ้าง เมื่อก่อนเวลาเกรซจะเดินเข้าร้าน ลูกน้องเหมือนวงแตก ตะโกนกันเป็นทอดๆ คุณเกรซมาๆ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ถ้าเกรซเดินเข้าร้านแล้วเห็นสิ่งผิดปกติ 10 อย่าง จากเมื่อก่อนต้องติ 7-8 อย่าง เดี๋ยวนี้พูดสัก 3 อย่างพอ เราเองก็ได้เรียนรู้”

เคล็ดวิชานอกหลักสูตร
              ก่อนมาทำธุรกิจที่บ้าน คุณเกรซไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาก่อน เคยทำงานสอน เป็นอาจารย์มาก่อนเท่านั้น เมื่อต้องรับหน้าที่บริหารงาน บริหารคนตั้งแต่อายุ 25 เธอเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง อาศัยว่าเป็นคนละเอียดและมีความถนัดด้านเทรนนิ่ง พลิกแพลงความรู้ด้านจิตวิทยาการเรียนการสอนที่ได้ร่ำเรียนมานำมาใช้ในการบริหารคน ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องที่ตนถนัดที่สุด 10 ปีที่ทำงาน
ที่บ้านเธอได้เรียนรู้หลายอย่างในสนามจริงและอยากแชร์ต่อ 

            · ชมต่อหน้า ติลับหลัง (คนอื่น)

             “เกรซมีลูกน้องร้อยกว่าคนแต่ละคนมีพื้นเพและระดับการศึกษาที่แตกต่างกันไป พนักงานจะชอบคำชม เวลาชมเขาให้ชมต่อหน้าคนเยอะๆ หรือในกลุ่มไลน์ แต่ถ้าจะตำหนิเกรซจะเรียกคุยส่วนตัวหรือไลน์ไปส่วนตัว”

              · เป็นเจ้านายที่ได้ใจลูกน้อง 

             “เราคุมคนตอนอายุ 25 บางคนอายุมากกว่าก็ต้องทำให้เขาเกรงใจ การบริหารพนักงานเกรซจะดูว่าทำยังไงให้ลูกน้องมีความสุขเวลาอยู่ใกล้เรา เพราะเกรซใช้เวลาอยู่กับลูกน้องเยอะ ถ้าเราได้ใจเขา บอกให้ทำอะไรเขาจะเต็มใจทำแบบเต็มที่  นอกจากนี้ก็ยังรับฟังเรื่องส่วนตัวของลูกน้องด้วย เวลาเขามีปัญหาต่างๆ มาปรึกษา เล่าเรื่องสนุกๆ ให้เราฟัง หรือขอความช่วยเหลือ อะไรที่เรายืดหยุ่นให้เขาได้ก็จะทำค่ะ” 

              · เจองานยากต้องอดทน 

             “งานจะยากก็ตอนที่เรายังไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญ ต้องอาศัยความอดทน พอทำไปเดี๋ยวก็หาทางจัดการกับมันจนได้ ครั้งหนึ่งเกรซเคยเจองานยาก ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นของเราเลขที่บ้านไปซ้ำกับร้านข้างๆ ผ่านไป 10 ปีไม่มีใครรู้เลย ต้องไปขอใหม่ ปัญหามีสารพัด ปกติทำร้านใหม่ 3 เดือนก็เสร็จ ของเกรซ 8 เดือน ต้องเจรจากับหลายฝ่ายมาก เพราะทุกอย่างขัดระเบียบไปหมด คุยกับเทศบาล วิศวกร ช่างก่อสร้าง กับซีพีออลล์ กับทางบ้านอีก แล้วทุกฝ่ายก็ไม่คุยกัน ส่วนเกรซคือคนที่ต้องทำให้ร้านนี้เปิดให้ได้ สุดท้ายเกรซนัดทุกฝ่ายมาประชุม Online โดยที่เกรซเป็น Host เอง เลือดตาแทบกระเด็นเหมือนกัน เพราะเราคิด-ทำคนเดียวหลายอย่าง ทักษะการเจรจาต่อรองหรือการขอร้องต้องผสมผสานกันไปหมด แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี”

              · เจอเรื่องไม่รู้ก็ต้องหาความรู้

              “ตอนมาทำงานแรกๆ ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่หมด ช่วงหนึ่งปั๊มเราไม่ผ่านการตรวจคุณภาพน้ำ เพราะมีร้านอาหารเยอะ คราบไขมันเยอะ เกรซไม่รู้เลยว่าจะต้องถูกตรวจเรื่องนี้ด้วย แล้วทางบ้านก็ยกให้แก้ไขเองเลย กลายเป็นเกรซต้องเป็นแม่ทัพพาปั๊มเราให้รอด เพราะถ้าตรวจไม่ผ่านต้องเสียค่าปรับวันละ 2,000 บาทหรือถึงขั้นปิดปั๊มได้เลย เครียดเลย มันหนัก ก็ต้องมานั่งศึกษาเรื่องค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) ค่า COD (Chemical Oxygen Demand) ไปเข้าอบรม เหมือนเรียนชีวะอีกรอบ ดีตรงที่เราเรียนสายวิทย์มา มีพื้นฐานอยู่แล้ว กว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องใช้เวลาอยู่เป็นปีเลย”

              · งาน-ส่วนตัว ต้องเป็นคนละเรื่อง 

              “ความยากของการทำธุรกิจครอบครัวเรื่องหนึ่งคือ เรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ปะปนกันไปหมด ทางบ้านจะคุยเรื่องงานกับเกรซบ่อย แม้แต่บนโต๊ะอาหารตอน 4 ทุ่ม เกรซใช้วิธีปฏิเสธที่จะคุยเลย เพราะเวลานั้นเราอยากพัก สมองเราเต็มแล้ว เรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานเป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องแยกกัน เพื่อที่เราจะได้พักสมองบ้าง

ยิ่งทำงานที่บ้าน ยิ่งต้องเรียนรู้
              นับตั้งแต่วันแรกที่กลับไปทำงานที่บ้านมาถึงวันนี้เข้าปีที่ 10 แล้ว คุณเกรซตั้งใจว่าทุกปีจะหาเวลาไปอัปเดตความรู้ใหม่ๆ เพราะมองว่าทำงานอยู่ที่บ้านอย่างเดียวไม่พอ ต้องออกไปเปิดหูเปิดตาดูว่าโลกภายนอกไปถึงไหนแล้ว               “เราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อไรหยุดอัปเดตจะรู้สึกว่าตามโลกไม่ทัน เกรซจะเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนเพิ่มเติมอยู่บ่อยๆ รู้สึกว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องมาก เพราะเราได้เห็นว่าโลกภายนอกไปถึงไหนแล้ว เกรซเป็นคนชอบเรียนเดิมคิดว่าเรามีความรู้เยอะแล้ว แต่พอได้เปิดโลกก็พบว่ายังมีอีกหลายศาสตร์มากที่เราไม่รู้ และเราสามารถนำไปพัฒนางานของเราได้อีก อีกเหตุผลหนึ่งคือเวลาเรากลับไปทำธุรกิจของเรา มันก็จะวนอยู่ในงานของเรา อยู่กับความรู้ที่เรามี เกรซจะมองหาคอร์สที่ทำให้ได้เจอเพื่อนวงการอื่นบ้าง ได้เปิดหูเปิดตา เราเล่าธุรกิจของเรา เขาเล่าธุรกิจของเขา ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน”
              คอร์สล่าสุดที่คุณเกรซตัดสินใจเรียน คือ BullMoon Exclusive นอกเหนือจากเนื้อหาคอร์สที่จะได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนในหุ้น อสังหาฯ และสินทรัพย์ดิจิทัล ประสบการณ์ที่มีค่าอีกอย่างหนึ่งคือการได้รู้จักกับเพื่อนๆ นักลงทุนที่เก่งมากๆ ในแต่ละด้าน ได้แชร์เรื่องราวที่มาของแต่ละคน ซึ่งเป็นเหมือนแรงบันดาลใจชั้นดีในการใช้ชีวิต

              “เกรซได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มีหลากหลายที่มา ได้ผลัดกันเล่าว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ เขาทำอะไรกันมาบ้าง บางท่านเริ่มต้นธุรกิจแบบสู้มาด้วยตัวเอง บางท่านตั้งใจเรียนจนได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ บางท่านทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาก เกรซว่าหลายท่านเก่งมากๆ ความเป็นนักสู้ของแต่ละคนเป็นแรงบันดาลใจให้เกรซอยากพัฒนางานให้ดีขึ้น พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ช่วยเพิ่มพลังในการใช้ชีวิตให้เกรซได้อย่างมากเลยค่ะ”   


เก็บตกนอกห้อง (เรียน) จาก “ทายาทรุ่นสาม”  
· การเปลี่ยนความคิดคนรุ่นพ่อแม่เป็นเรื่องท้าทาย สิ่งสำคัญคือต้องพิสูจน์ตัวเอง   
· การทำธุรกิจครอบครัว เรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวเป็นสิ่งที่ต้องพยายามแบ่งเวลาแยกกัน
· ชมลูกน้องเมื่อสมควรชมและชมอย่างจริงใจ ชมในที่สาธารณะ แต่ติในที่ส่วนตัว
· งานจะยากก็ตอนที่เรายังไม่รู้ ไม่เชี่ยวชาญ แต่พอทำไปเดี๋ยวก็หาทางจัดการได้เอง
· ว่างจากงานต้องพัฒนาตนเอง เมื่อไรหยุดอัปเดต เมื่อนั้นเราจะตามใครไม่ทัน  


»»»»»»»»»  

เวลาเรากลับไปทำธุรกิจของเรา มันก็จะวนอยู่ในงานของเรา อยู่กับความรู้ที่เรามี 
เกรซจะมองหาคอร์สที่ทำให้ได้เจอเพื่อนวงการอื่นบ้าง ได้เปิดหูเปิดตา 
เราเล่าธุรกิจของเรา เขาเล่าธุรกิจของเขา ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน

ทยานันท์ ปัญญายงค์

»»»»»»»»»


เปิดใจนักเรียน (รู้) BullMoon Exclusive รุ่น 1

“เกรซเคยเป็นศิษย์เก่า stock2morrow มาก่อน เคยลงเรียนคอร์สหุ้นมาหลายคอร์ส พอรู้ว่าจะมีคอร์ส BullMoon Exclusive ตอนแรกไม่รู้ว่าใครจัด ก็ใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักใหญ่ เพราะเกรซเป็นคนละเอียด จะดูทุกอย่าง วิทยากรเป็นใคร ตามดู IG ก็ได้เห็นรูปวิทยากร เห็นรูปคนสมัครเรียนที่มีโปรไฟล์หลากหลาย ทั้งเจ้าของบริษัท นักแสดง หมอ ฯลฯ เนื้อหาคอร์สจะได้เรียนรู้ฮาวทูการลงทุนใน 3 สินทรัพย์ที่สำคัญ ทั้งหุ้น อสังหาฯ และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเกรซสนใจเรื่องอสังหาฯ เพราะทางบ้านยังไม่มีใครทำ อยากมีความรู้ตรงนี้เพื่อเอาไปต่อยอด รองลงมาคือสินทรัพย์ดิจิทัล เรียนรู้ไว้เป็นพื้นฐาน เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะได้ลงทุนบ้าง”


เรื่อง รติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร 

ภาพ พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร 

เรียนรู้การลงทุนและมีเพื่อนดีๆ จากคอมมูนิตี้ที่รักการเรียนรู้

ดูรายละเอียดได้ที่ https://bullmoonexclusive.com