LESSON 7 : ดร.ปุณณมี สัจจกมล

Head of CEO Office พรเกษม กรุ๊ป

>>>>>

มองภาพใหญ่เสมอ


              ถ้าหน้าที่หลักของหมอคือรักษาคนไข้ หน้าที่หลักของวิศวกรการเงินหรือ Financial Engineer ก็คงเป็นคล้ายๆ หมอ เพียงแต่รักษาบริษัทต่างๆ โดยสร้างสรรค์แบบจำลองและเครื่องมือทางการเงินในการแก้ปัญหาให้กับองค์กรธุรกิจ ตลอดชีวิตของ คุณใหญ่ – ดร.ปุณณมี สัจจกมล คลุกคลีกับด้านการเงินและการวางแผน ผ่านการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้บริหาร และเจ้าของกิจการ โดยใช้วิชาความรู้ด้านวิศวกรรมการเงินที่ได้ร่ำเรียนมา ล่าสุดเขานั่งเก้าอี้ Head of CEO Office  พรเกษม กรุ๊ป ที่ดำเนินธุรกิจคลินิกรักษาและดูแลสุขภาพผิวมานานกว่า 30 ปี เป็นจุดเปลี่ยนในการทำงานจากที่คิดถึงแต่ผลกำไรด้านตัวเลข หันมาเป็นมองภาพใหญ่ขึ้น มองความยั่งยืนของธุรกิจและคุณภาพชีวิตของคนไข้เป็นหลัก 

ทุกอย่างมีเวลาของมัน
              ถ้าสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่อายุ 16 คุณจะเข้าเรียนมั้ย?

              คุณใหญ่เป็นเด็กห้องคิงที่เรียนเก่งกันยกห้อง สมัยก่อนมีการสอบเทียบกศน. เขาสอบเทียบ ม.4 ได้ตั้งแต่จบ ม.1 และสอบเทียบ ม.6 ได้ตอนจบ ม.4 ด้วยความหลงใหลในคณิตศาสตร์ อยากเรียนบัญชี การเงิน ปรากฏว่าเขาสอบติดมหาวิทยาลัยได้คณะบัญชี แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนวิศวกรรมศาสตร์หรือแพทยศาสตร์ เมื่อสอบได้พลาดเป้า
ทางบ้านจึงส่งไปเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายที่เมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ 

              อาจารย์แนะแนวที่โน่นซึ่งเห็นว่าเขาเป็นเด็ก Gifted ด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และการวางแผน จึงได้แนะนำให้ไปเรียน System Engineering ที่สัมพันธ์กับบัญชีและการเงิน เป็นเหตุผลให้ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการเงินทั้งปริญญาตรี โท และเอก ที่ประเทศแคนาดา พอเรียนจบก็ได้รับข้อเสนอให้ทำงานในบริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและอยากทำมาก แต่สุดท้ายต้องกลับเมืองไทยด้วยเหตุผลด้านครอบครัว
              เราชวนเขาทบทวนความหลังเมื่อต้องผิดหวังในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้คณะที่คาดหวัง ทั้งๆ ที่หากเทียบกับเด็กทั่วไปต้องนับว่าเขาคือนักเรียนระดับหัวกะทิที่มีความเป็นเลิศการในเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี

            “ตอนนั้นรู้สึกเฟล คิดว่าตัวเองขยันไม่พอ ทั้งที่จริงๆ แทบไม่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กเลย ไม่เคยได้เตะบอลหลังเลิกเรียน วันๆ เรียนหนังสือ เข้าห้องสมุด เรียน กศน. ไปแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิก ฟิสิกส์โอลิมปิก แต่ก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไรกับชีวิต เพราะมันคือสิ่งที่เพื่อนทุกคนในห้องก็ทำ แต่พอหันกลับไปมองในวันนี้ เราอายุแค่ 16 เอง ประสบการณ์ยังน้อย ผมคิดว่าทุกเรื่องมันมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม ถ้าวันนั้นเข้าเรียนเราอาจจะเด็กเกินไป วุฒิภาวะยังไม่พอ”

              แล้วเขาคิดอย่างไรที่เด็กสมัยนี้อยากรวย อยากสำเร็จในชีวิตไวๆ คุณใหญ่มองว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากฝากให้คิดก่อนว่าหาเงินไปทำอะไร เพราะถ้าเป็นเพียงเรื่องของวัตถุ ยิ่งเงินหามาได้ง่ายก็ยิ่งใช้จ่ายง่าย กลายเป็นความสำเร็จที่ไร้ค่า  
              “อยากให้คิดว่าคุณหาเงินไปทำอะไร หาไปเพื่อใคร ถ้าแค่ต้องการซูเปอร์คาร์ ต้องการของแบรนด์เนม หรือแค่โชว์ออฟในโซเชียลมีเดีย แต่พื้นฐานคุณไม่พอ วันหนึ่งถ้าประสบปัญหาจะแก้ไม่ถูก รับมือไม่ได้ เกิดเป็นโรคซึมเศร้า เครียด หรือถึงฆ่าตัวตายได้เลย เงินที่ใช้เวลาในการหาต่างกัน ค่ามักไม่เท่ากัน ถ้าเงินได้มายากจะจ่ายออกยาก แต่ถ้าเงินไหนที่รู้สึกว่าได้มาง่ายจะอยากใช้จ่ายไวๆ หมดก็หาใหม่ ผมไม่ได้บอกว่าความคิดของเด็กรุ่นใหม่ผิด แต่ถ้าอยากรวยคุณต้องมีความรู้ที่เพียงพอ พื้นฐานต้องแน่น

เปิดซอง เปลี่ยนชีวิต

              เมื่อก่อนคุณใหญ่ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากหาเงินให้ได้มากๆ เป้าหมายของเขาคือการดูแลครอบครัว เพราะพ่อเป็นผู้ป่วยติดเตียง เกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่หาย โดยเซลล์สมองถูกทำลายทำให้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ความคิด และอารมณ์ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากในแต่ละเดือน 
            “ผมทำงานหนักมาก ไม่เคยมีวันหยุด เพราะคุณพ่อป่วยเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) สภาพร่างกายผิดปกติ เพราะสมองสั่งงานไม่สัมพันธ์กับกล้ามเนื้อ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ช่วงแรกหมอวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง 
จ่ายยาไม่ถูกกับโรค ทำให้อาการของคุณพ่อแย่ลงเรื่อยๆ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคอะไรก็ผ่านไปหลายปี”
              จุดพีกของเรื่องนี้คือโรคฮันติงตันถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีความบกพร่องทางพันธุกรรม ความเสี่ยงในการเกิดโรคของลูกมี 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยโรคฮันติงตันจะเริ่มมีอาการในวัยกลางคน ช่วงอายุ 30-40 ปี และจะมีชีวิตอยู่ได้ 15-20 ปีหลังจากเริ่มมีอาการ คุณใหญ่มีน้องชายอีกหนึ่งคน นั่นหมายความว่าเขาและน้องมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่าๆ กัน หากคนหนึ่งเป็น อีกคนมีโอกาสที่จะไม่เป็น หรือหากคนหนึ่งไม่เป็น โอกาสที่อีกคนหนึ่งจะเป็นก็ค่อนข้างแน่นอน
                ชีวิตดำเนินมาถึงตอนที่คุณใหญ่คิดจะแต่งงาน หมอแนะนำให้เขาตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาความผิดปกติ เพื่อวางแผนชีวิตในวันข้างหน้า หลังจากรอมาเป็นเดือน และแล้ววันที่ซองใส่ผลการตรวจถูกส่งมาถึงมือก็มาถึง 

              “โอกาสมี 3 ทาง หนึ่ง ไม่เป็นและไม่ส่งต่อทางพันธุกรรม สอง ไม่เป็น แต่มีโอกาสส่งต่อให้ลูก สาม เป็นและส่งต่อ ให้ลูก ผมเป็นคนจิตแข็ง ไม่ค่อยกลัวอะไร พอรู้ผลแล้วผมก็ตัดสินใจแต่งงาน ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงินไว้ให้ลูก ใช้ชีวิตเต็มที่ หมั่นหาความรู้ เข้าคอร์ส นั่นนี่ เพราะรู้ว่าชีวิตเราอีกยาวไกล จะปล่อยให้ตัวเองล้าหลังไม่ได้”

              การเปิดซองในครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของคุณใหญ่ไปตลอดกาล เมื่อรู้จุดหมายสุดท้าย การใช้ชีวิตก็สอดคล้องไปตามนั้น

My Life as a Financial Engineer
            เมื่อพูดถึงอาชีพวิศวกรแล้ว ภาพในหัวของคนทั่วไปมักจะนึกถึงคนที่สร้างสรรค์ตึกรามบ้านช่อง หรือคิดค้นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ แต่พอพูดถึง “วิศวกรการเงิน” คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จัก

            ความเชี่ยวชาญของคุณใหญ่ยังเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา เขาเรียนจบด้านวิศวกรรมการเงิน ทั้งปริญญาตรี โท และเอก จาก University of Regina ประเทศแคนาดา ศาสตร์นี้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ทางทฤษฎีการเงิน วิธีการทางวิศวกรรม เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และการเขียนโปรแกรมมาแก้ปัญหาทางการเงิน โดยนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์และสถิติเป็นพื้นฐานสำคัญ ขณะที่มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเปิดสอนอยู่ไม่กี่แห่ง 

            “สาขาวิศวกรรมการเงินเราสร้างระบบในการหาเงินขึ้นมา อธิบายง่ายๆ คือสร้าง Business Model ถ้าเรารู้ว่า บริษัทต้องการอะไร ปัญหาคืออะไร เราจะค่อยๆ แก้ Pain Point ทีละจุด เพื่อให้เกิด Optimum Profit ผมเป็นคนชอบ คณิตศาสตร์อยู่แล้ว เราจะจับแพตเทิร์นความผิดปกติของตัวเลขได้เร็วกว่าคนทั่วไปมาก รู้ว่าจะคำนวณยังไงให้ออกมาตามที่ต้องการ กลายเป็นเอนจอยกับงานที่ทำและทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ผมจะใช้ศาสตร์และศิลป์ที่ผ่านประสบการณ์ การทำงานมาหลากหลายธุรกิจ มองเกมออกมากกว่าคนอื่น เช่น บริษัทอยากโตสองเท่าจะทำยังไง ปัญหาอยู่ที่ไหน ผม
จะไม่เน้นลดค่าใช้จ่าย แต่จะดูว่ารายได้มันถึงจุดสูงสุดหรือยัง รายได้ที่จะเพิ่มเข้ามามันสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายยังไง 
            “สมมติบริษัทอยากหารายได้เพิ่มเดือนละแสน แต่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มเดือนละ 2 หมื่น ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ต้อง
ลด Cost จ้างเลย คนส่วนใหญ่มองว่าต้อง Minimize รายจ่าย และ Maximize รายได้ เพื่อให้เกิดกำไร แต่ผมจะมองหาจุดที่ดีที่สุด จ่ายแพงก็ได้แต่จ่ายแล้วคุ้มไหม ถ้าคุ้มก็จ่ายเลย ถ้าเป็นคนอื่นจะมองเป็นจุดๆ แต่วิศวกรการเงินจะมองภาพใหญ่ทั้งระบบแบบ Bird’s Eye View คือมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง แล้วต้องมองให้ออกว่าธุรกิจนั้นจิ๊กซอว์ตัวไหน ขาดหายไป และต้องทำยังไงให้จิ๊กซอว์ครบถ้วน” 

            10 ปีที่กลับมาอยู่เมืองไทย คุณใหญ่สั่งสมประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาโรงงานมาไม่ต่ำกว่า 300 โรงงาน ผ่านการทำงานด้านการเงินในธุรกิจที่หลากหลาย เป็นความตั้งใจในการทำงานหนักเพื่อไล่ตามคนอื่นให้ทัน

            “ผมใช้ชีวิตในต่างประเทศมาตลอด ไม่มีประสบการณ์การทำงาน ไม่มีเพื่อนในเมืองไทยเลย คนอื่นเขาเก็บเกี่ยว ประสบการณ์กันมาก่อนเป็นสิบปี ส่วนผมมาเริ่มต้นทีหลังก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเป็น 10 เท่า เพื่อให้ได้ประสบการณ์ เท่าเขา กลายเป็นไม่เลือกงาน งานไหนมาเราทำหมด นี่คือสิ่งที่คิดและทำ”

เสริมความรู้ สร้างคอนเน็กชั่น
              เพราะเชื่อว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และคนที่หยุดนิ่งอยู่กับที่สุดท้ายจะกลายเป็นถอยหลังตามคนอื่นไม่ทัน คุณใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการอัปเดตความรู้อยู่เสมอ สมัครเข้าเรียนคอร์สต่างๆ มากมาย อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างคอนเน็กชั่น เป็นการกำจัดจุดอ่อนของตนเอง

            “ผมลงเรียนเยอะมาก แทบทุกคอร์ส Networking ในไทยเลยก็ว่าได้ เพราะจุดอ่อนของผมคือผมไม่มีเพื่อน ในเมืองไทยเลย ประสบการณ์การทำธุรกิจ การรู้จักผู้ใหญ่เป็นศูนย์ ช่วงแรกๆ ที่อยู่เมืองไทยคิดว่าตัวเองเก่ง เข้าทำงานได้ ด้วยฝีมือล้วนๆ แต่พออยู่ๆ ไปเริ่มเรียนรู้ว่าบ้านเราฝีมือเป็นเรื่องรองจากคอนเน็กชัน เป็นจุดเริ่มต้นให้ไปเข้าคอร์สเรียนต่างๆ”
              คอร์สล่าสุดที่คุณใหญ่สมัครเรียนคือ BullMoon Exclusive ซึ่งเรียนรู้การลงทุนใน 3 สินทรัพย์ที่สำคัญ ทั้งหุ้น อสังหาฯ และสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองและสร้างเครือข่ายไปในตัว ก่อนจะทิ้งท้ายถึงความสำคัญ ของการพัฒนาตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ

              “โลกหมุนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกคนอื่นแซงไปหมด ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดเรียนรู้ เลือกเรียนสิ่งที่เหมาะสมกับเราในสถานการณ์ตอนนั้นๆ ทุกวันนี้เครื่องมือในการ เรียนรู้เยอะแยะไปหมด เด็กสมัยนี้เรียนรู้ได้เร็ว ถ้าเราช้ากว่าเขาวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจตกงานได้ ผมยังเคยคิดเลยว่าในอนาคต Financial Advisor อย่างผมก็ตกงานได้ ถ้ามีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาเยอะ ความเก๋าเกมอาจช่วยอะไรไม่ได้ เลยนะ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครอยู่ยงคงกระพัน การอัปเดตตัวเองตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมยังเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด เรียนเพื่อให้รู้ อย่างน้อยก็สั่งงานได้ ตรวจงานได้ ทำอะไรเป็นบ้าง ใครทำอะไรเรารู้เรื่อง”

              อย่างที่คุณใหญ่พูดไว้…ไม่อยากตกขบวนรถไฟแห่งความก้าวหน้า ต้องหมั่นเรียนรู้


 เก็บตกนอกห้อง (เรียน) จาก “วิศวกรการเงิน”
· คนส่วนใหญ่มองว่าต้อง Minimize รายจ่าย และ Maximize รายได้ เพื่อให้เกิดกำไร แต่ผมจะมองหาจุดที่ดีที่สุด จ่ายแพงก็ได้แต่จ่ายแล้วคุ้มไหม ถ้าคุ้มก็จ่ายเลย    
· ทำงานต้องให้ง่าย อย่าไปทำให้มันยุ่งยาก ถ้าเราไม่เก่งก็จ้างคนเก่งทำ บางคนดื้อทำทุกอย่างเลยกลายเป็น เหนื่อยไปหมด
· หาจุดอ่อนของธุรกิจให้เจอแล้วแก้ไขปรับปรุง พอทุกอย่างดีขึ้น เดี๋ยวรายได้จะตามมาเอง

· เงินไม่ได้หามาจากสูตร เงินมาจากการใช้สูตรให้ถูกต้อง 

· โลกหมุนตลอดเวลา ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกคนอื่นแซงไปหมด


»»»»»»»»»

 
เงินที่ใช้เวลาในการหาต่างกัน ค่ามักไม่เท่ากัน    
ถ้าเงินได้มายากจะจ่ายออกยาก 
แต่ถ้าเงินไหนที่รู้สึกว่าได้มาง่าย จะอยากใช้จ่ายไวๆ หมดก็หาใหม่

ดร.ปุณณมี สัจจกมล

»»»»»»»»»


เปิดใจนักเรียน (รู้) BullMoon Exclusive รุ่น 1

“คอร์สนี้จะได้เรียนรู้ฮาวทูการลงทุนในหุ้น อสังหาฯ และสินทรัพย์ดิจิทัล เรื่องหุ้นผมลงทุนมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว น่าจะรู้ประมาณ 70-80% ส่วนอสังหาฯ เคยทำโฮสเทล ซื้อคอนโดฯ ปล่อยเช่า เคย Flip ทำกำไร ก็รู้ประมาณ 40-50% ส่วนคริปโตฯ รู้แค่ 10-20% คิดว่าหลักสูตรนี้น่าจะช่วยเติมเต็มความรู้แต่ละส่วนให้เพิ่มขึ้น ในส่วนของหุ้นที่ผมเคยผ่านประสบการณ์การลงทุนมาแล้ว ก็อยากให้มีเนื้อหาที่แอดวานซ์ขึ้น แต่เข้าใจว่าเพราะผู้เรียนส่วนหนึ่งยังไม่มีความรู้มาก่อน จึงเน้นการปูพื้นฐานให้แน่น ส่วนของคริปโตฯ รู้สึกว่าเนื้อหาดีหมด คงเป็นเพราะเราไม่เคยรู้มาก่อน”


เรื่อง รติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร 

ภาพ พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร 

เรียนรู้การลงทุนและมีเพื่อนดีๆ จากคอมมูนิตี้ที่รักการเรียนรู้

ดูรายละเอียดได้ที่ https://bullmoonexclusive.com